ทีมงาน SmileTravel ขอเชิญเพื่อนๆไปร่วมทำบุญ เสริมดวง เสริมบารมี เพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต กับงาน “ประเพณี ขึ้นเขาสวาย” โดยรายระเอียดมีดังนี้
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุรินทร์ ขอเชิญนักท่องเที่ยวร่วมเดินเท้าสร้างบุญ เคาะระฆังต่อทุนบารมีบนเขาพนมสวายจังหวัดสุรินทร์ในงาน “ประเพณี ขึ้นเขาสวาย” ประจำปี 2557 ในวันที่ 31 มีนาคม 2557 ณ วนอุทยานพนมสวาย อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์
เขาสวาย หรือพนมสวาย เป็นภูเขาที่ไม่สูงชันนัก อยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดสุรินทร์ 20 กิโลเมตร ประกอบด้วยยอดเขาสาม แต่เดิมในอดีตบรรพบุรุษของชาวสุรินทร์เชื่อว่าพนมสวายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นสถานที่แสวงบุญ ดังนั้นในทุกปีเมื่อถึงวันขึ้น 1 ค่ำเดือนห้า ที่ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติ ชาวสุรินทร์จะพร้อมใจกันหยุดงานแล้วเดินทางจากตัวเมืองไม่ว่าจะด้วยการเดินเท้าหรือทางเกวียน ขึ้นไปกราบไหว้ขอพรเสริมสร้างบารมีให้ชีวิตตนเองและครอบครัวประสบความสุข ความสำเร็จใน ทุก ๆ ด้านบนยอดเขาพนมสวายเป็นประจำทุกปีจวบ จนปัจจุบัน
ททท. สำนักงานสุรินทร์ จึงขอเชิญสืบสานงานบุญท้องถิ่น ชวนนักท่องเที่ยวร่วมงาน “ประเพณีขึ้นเขาสวาย” เสริมศรัทธาบารมี พร้อมกราบไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 9 แห่งบนยอดเขาอันได้แก่ 1.พระใหญ่หรือพระสุรินทร มงคล 2.รอยพระพุทธบาทจำลอง 3.อัฐิหลวงปู่ดูลย์ อตุโล 4.พระพุทธรูปองค์ดำ 5.อัฐิพระครูพนมศิลคุณ (สวน สารธมฺโม) 6.ร่องรอยแห่งปราสาทหินพนมสวาย 7.ศาลเจ้าแม่กวนอิม 8.เต่าหินศักดิ์สิทธิ์ 9.สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงระฆังศักดิ์สิทธิ์ 1,080 ใบ ซึ่งเป็นระฆังจากวัดทั่วจังหวัดสุรินทร์ 1,070 ใบ และอีก 10 ใบ จากวัดชื่อดังในกรุงเทพมหานคร เชื่อว่าหากใครได้มาเคาะระฆังเหล่านี้จะมีชื่อเสียงขจรไกลเหมือนดังเสียงระฆังที่ก้องกังวานออกไป
นอกจากนี้นักท่องเที่ยวยังสามารถเดินทางท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงเช่น ปราสาทบ้านพลวง อำเภอปราสาท ชมปราสาทหินขนาดเล็กแต่มีความโดดเด่นด้านลายสลักที่วิจิตรงดงามและสมบูรณ์ กลุ่มปราสาทตาเมือน อำเภอพนมดงรัก พบกับโบราณสถานศิลปะขอมสามหลังสามแบบ ตามแนวชายแดนไทย – กัมพูชา เชื่อว่าในอดีตสถานที่แห่งนี้เป็นชุมชนเพราะเป็นเส้นทางผ่านช่องเขาสำคัญระหว่างเมืองพระนครไปยังพิมายปุระ หมู่บ้านทอผ้าไหมยกทองโบราณบ้านท่าสว่าง อำเภอเมือง เรียนรู้ภูมิปัญญาการย้อมสีผ้าไหมจากธรรมชาติของชาวสุรินทร์ และตื่นตาไปกับศิลปะการถักทอเส้นไหมอันสลับซ้อนดิ้นทองผสมผสานลายราชสำนักโบราณ จำนวน 1,416 ตะกอ หมู่บ้านช้าง อำเภอท่าตูม เรียนรู้วิถีชีวิตชาวกวยหรือกูย ความสัมผัสความผูกพันระหว่างคนกับช้าง ที่เลี้ยงช้างเป็นเสมือนดั่งสมาชิกในครอบครัว มากกว่าการเลี้ยงมุ่งเน้นการเลี้ยงช้างไปเพื่อการงานหรือธุรกิจ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
ททท. สำนักงานสุรินทร์ โทร. 0 44 51 4447 – 8 โทรสาร. 0 4451 8530 e-mail : tatsurin@tat.or.th หรือโทร. 1672กองการศึกษาฯ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ โทร. 0 4451 4524
ที่มา ททท. สำนักงานสุรินทร์
เรียบเรียง SunZA
Comments